ปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงม้าให้เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือ
โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (Africa Horse Sickness)

              

              

                  สัตวแพทย์หญิงศรีสมัย  โชติวนิช  ปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ  เปิดเผยว่าเนื่องจากขณะนี้มีการระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness)  ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา  ชลบุรี  ประจวบคีรีขันธ์  ราชบุรี  เพชรบุรี  ชัยภูมิ  และสระแก้ว  โดยที่โรคนี้เป็นโรคระบาดร้ายแรงในม้า  ที่ไม่เคยพบในประเทศไทยมาก่อน  ไม่มียารักษา  มีอัตราการป่วยตายสูงถึง  75 -  90 % ติดต่อผ่านแมลงดูดเลือด  เช่น  ตัวริ้น  ยุง  แมลงวันคอก สามารถเกิดโรคได้ในม้า  ลา  ล่อ  ม้าลาย  และอูฐ  และเมื่อแสดงอาการป่วยแล้วม้าจะตายภายใน
24 – 48  ชั่วโมง  ซึ่งโรคดังกล่าวยังมีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดของโรคอย่างต่อเนื่องหากไม่มีการควบคุมโรคที่ดีพอ  โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เป็นโรคหรือพาหะของโรคเข้ามาในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ 

                   และขณะนี้จังหวัดชัยภูมิ  ได้ประกาศให้ทุกหมู่บ้าน  ทุกตำบล
ทุกอำเภอในจังหวัดชัยภูมิ  เป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชนิดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า  (
African Horse Sickness)  ในสัตว์หรือซากสัตว์ชนิดม้า ลา  ล่อ  และอูฐ
และห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือซากสัตว์เข้า ออก ผ่าน หรือภายในจังหวัดชัยภูมิ  เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ท้องที่ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย  หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

                   ในการนี้  เพื่อให้จังหวัดชัยภูมิของเราปลอดจากโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า  สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ  จึงใคร่ขอความร่วมมือร่วมใจจากเกษตรกรผู้เลี้ยงม้าและประชาชนชาวชัยภูมิทุกท่านให้เฝ้าระวังโรคและ
เตรียมความพร้อมในการรับมือ
โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า  ดังนี้
              1.  ขอให้ผู้เลี้ยงม้าทุกท่านไปขึ้นทะเบียนเกษตรผู้เลี้ยงม้า  ณ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอใกล้บ้านท่าน
  2.  งด เว้นการเคลื่อนย้ายม้าเข้า – ออก พื้นที่จังหวัดชัยภูมิ และงดการนำพ่อพันธุ์ม้าจากฟาร์มอื่นเข้ามาผสมในช่วงที่มีการระบาดของโรค
    3.ติดตั้งมุ้งกันแมลงที่คอกม้า  โดยใช้มุ้งที่มีขนาด  32  ตาต่อตารางนิ้วขึ้นไป  เพื่อป้องกันแมลงที่เป็นพาหะของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า
โดยเฉพาะตัวริ้นที่มีขนาดเล็กเพียง  1  มิลลิเมตรเท่านั้น  ทั้งนี้  ควรทำความสะอาดภายในคอกม้าก่อนติดมุ้งกันแมลง  ดูแลความเรียบร้อยของชายมุ้งบริเวณที่ติดกับพื้นดินและตามฝ้าเพดานที่อาจเป็นที่ทำให้แมลงเล็ดรอดเข้ามาได้ 

                 4.  กำจัดแมลงดูดเลือด  โดยการใสช้ยาฆ่าแมลง  เช่น
                             - ยาอีโตเฟนพรอก  (Etofenprox)  เป็นยาป้องกันและกำจัดแมลงที่มีความปลอดภัยสูง  สามารถใช้กับตัวม้าได้โดยตรง  โดยให้พ่นบนตัวสัตว์ทุกวัน
                        - ยาไซเปอร์เมทริน  (Cypermethrin)  สามารถใช้ได้กับตัวสัตว์และมุ้งกันแมลง  ในกรณีที่ใช้กำจัดแมลงที่ตัวสัตว์  ให้ใช้อัตราส่วน 1:400  เช่น
ตัวยา  12.5  ซี.ซี.ผสมน้ำได้  500  ซี.ซี.  ใช้ฉีดพ่นตามลำตัว  ขา  ส่วนบริเวณหน้าให้ใช้ผ้าจุ่มน้ำยาพอหมาดเช็ดบริเวณหน้าหูให้ทั่ว  ส่วนกรณีใช้กำจัดแมลงที่คอกสัตว์และมุ้งกันแมลง  ให้ใช้อัตราส่วน 1:200    ทั้งนี้  การผสมยาต้องคนให้เข้ากันให้ดี  ผสมแล้วใช้ทันที  ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน  น้ำยาจะเสื่อมฤทธิ์ลง นอกนี้
ยายังสลายได้ง่ายเมื่อถูกความร้อนจากเเสงเเดด  เพราะฉะนั้น  ควรพ่นยากำจัดแมลงในตอนเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น  หรือตอนเย็นหลังพระอาทิตย์ตกดิน

                    5.กำจัดแมลงและแหล่งเพาะพันธุ์แมลง  เช่น  มูลม้า  โดยการ
ทำความสะอาดภายในคอกม้าและบริเวณรอบๆฟาร์ม  เช่น  โรงเก็บฟาง
นำมูลม้ามาตากแดดให้แห้ง หรือใช้ผ้าพลาสติกคลุมไว้เพื่อไม่ให้แมลงบินออกมาได้   ทำให้สถานที่เลี้ยงม้าแห้งอยู่เสมอ  

                    6.ให้กักม้าไว้ในมุ้งกันแมลง  เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกแมลงกัด  โดยในขณะที่กักตัวม้าไว้ในมุ้ง  ให้งดการให้อาหารข้น  ให้กินหญ้าและฟางแห้ง  เพื่อลดพลังงานสะสมในตัวสัตว์  โดยสามารถพาม้าเดินเล่นได้ในช่วงเวลากลางวัน  คือ  สองชั่วโมงหลังอาทิตย์ขึ้น  และสองชั่วโมงก่อนพระอาทิตย์ตก  
                    7.หลีกเลี่ยงการนำหญ้าจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
                    8.ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรค  อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ 
ก่อนและหลังการใช้งาน  รวมถึงคอกเลี้ยง บุคคล ยานพาหนะที่เข้าและออกฟาร์ม  เช่น  รถขนอาหาร

                   ทั้งนี้  หากสนใจขอข้อมูล หรือคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ หรือกลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์  สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ  หมายเลขโทรศัพท์  044-812334 ต่อ 13 , 044 - 811928 หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอใกล้บ้านท่าน

 

 

ภาพกิจกรรม
   
   
   
   
   
   
   

 

                                  

กลับหน้าแรก / กลับด้านบน

 

ภาพ และข่าว : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศการปศุสัตว์
ผู้อนุมัติข่าว : นางศรีสมัย โชติวนิช ปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ