ปศุสัตว์ชัยภูมิ เตือนภัยให้เฝ้าระวังสเตรปโตคอกคัส ซูอิส หรือ โรคหูดับ
สัตวแพทย์หญิงศรีสมัย โชติวนิช ปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยว่า ด้วยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ ได้รับแจ้งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิถึงสถานการณ์ของโรคติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส หรือ โรคหูดับ ในระหว่างวันที่ 11–18 ธันวาคม 2562 มีรายงานพบผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าว จำนวน 2 รายในพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์และบ้านเขว้า โดยมีประวัติรับประทานก้อยหมูดิบ ใส่เลือดก่อนมีอาการป่วย โรคติดเชื้อ(Streptococcus suis) หรือ โรคหูดับ เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนที่พบการเกิดโรคในประเทศไทยทุกปี เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่สามารถพบได้ในสุกรเกือบทุกตัว สุกรที่ติดเชื้อมักจะไม่แสดงอาการป่วย โดยเชื้อจะฝังอยู่ ในโพรงจมูก ต่อมน้ำลาย และต่อมทอนซิล หรืออาจพบในช่องคลอดของแม่สุกร โรคนี้ติดต่อมาสู่คนได้ 2 ทาง คือ 1.ผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จากการสัมผัสสุกรที่ติดเชื้อ เนื้อหมู เครื่องในหมู เลือดของหมู 2.การบริโภคเนื้อและเลือดสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุก 100% เช่น ลาบ หลู้ หมูกระทะ สเต๊ก หรือหมูจุ่ม ซึ่งกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ ได้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ชำแหละเนื้อสุกร สัตวบาล สัตวแพทย์ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีการกำหนดมาตรการในการป้องกันโรคดังกล่าว ดังต่อไปนี้ 1. กลุ่มสุกร การเลี้ยงสุกรให้อยู่ในสภาวะสุขาภิบาลที่ดี เช่น ไม่เลี้ยงแออัด อากาศในโรงเรือนถ่ายเทได้ดี สามารถป้องกันความหนาวเย็นขณะที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหันได้ สุกรจะมีร่างกายแข็งแรง เชื้อจะไม่สามารถเพิ่มจำนวนและก่อโรคในสุกรได้ แต่ถ้าเมื่อใดสุกรอยู่ในภาวะเครียด ร่างกายสัตว์อ่อนแอ เชื้อจะฉวยโอกาสทำให้แสดงอาการสมองอักเสบ ข้ออักเสบแบบรุนแรง กล้ามเนื้อและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีการติดเชื้อในกระแสเลือดจนถึงขั้นตายได้ กลุ่มสุกรที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมักจะเป็นสุกรหย่านม สุกรขุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุกรที่อยู่ในช่วงอายุ 8 – 15 สัปดาห์ ดังนั้น การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อการป้องกันในช่วงลูกสุกรหย่านม จะช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคได้ เนื่องจากการติดเชื้อส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นระหว่างสุกรหย่านม 2. กลุ่มผู้เลี้ยงสุกร ควรป้องกันและระวังตนเองในการเลี้ยงหรือจับสุกรที่เป็นพาหะ ดังนี้ 2.1 ควรปรับระบบการเลี้ยงสุกร ให้มีระบบสุขาภิบาลและการป้องกันโรค ที่ดี ทำความสะอาดโรงเรือนและคอกเลี้ยงสุกรอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเชื้อดังกล่าวจะถูกทำลายได้ง่ายโดยสารซักฟอกและยาฆ่าเชื้อทั่วไป เช่น 70% เอทานอล ฟอร์มัลดีไฮด์ กลูตารัลดีไฮด์ และยาฆ่าเชื้อที่มีไอโอดีน 2.2 การทำความสะอาดหรือการเข้าไปทำงานในคอกเลี้ยงสัตว์ ควรใส่รองเท้าและถุงมือทุกครั้ง เพื่อป้องกันการสัมผัสกับของเสียและมูลสุกร และควรล้างมือทุกครั้งหลังจากการทำงานในคอกเลี้ยงสัตว์ 2.3 หลีกเลี่ยงการจับซากสุกรด้วยมือเปล่าหรือนำออกจากฟาร์มเพื่อจำหน่ายหรือบริโภค 2.4 ควรทำลายซากสุกรที่ป่วยตายผิดปกติโดยการฝังลึกประมาณ 2 เมตรและโรยปูนขาวทั่วก้นหลุมและบนตัวสัตว์ก่อนทำการกลบดิน 3. กลุ่มผู้ปฏิบัติงานในโรงฆ่าสัตว์ ควรใส่เสื้อ กางเกงปกปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการกระเด็นจากของเสียจากซากสุกรที่ชำแหละเข้าสู่ปากหรือเยื่อเมือกและผิวหนัง ใส่รองเท้าบู้ทและถุงมือ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสุกรโดยตรง 4. กลุ่มผู้จำหน่ายเนื้อสุกร 4.1 ล้างทำความสะอาดมือ เท้า และส่วนที่สัมผัสกับซากโดยตรง และ ไม่ควรหยิบหรือจับต้องอาหารเข้าปากขณะปฏิบัติงาน 4.2 เนื้อสุกรที่นำมาจำหน่ายควรมาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน มีการตรวจรับรองจากพนักงานตรวจเนื้อ โดยปกติแล้วเนื้อสุกรที่ผ่านจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานจะต้องมีตราประทับรับรองที่ซากสัตว์ทุกซากที่จะนำสู่การจำหน่าย 4.3 แผงจำหน่ายเนื้อสุกร ควรทำความสะอาดและล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ทุกวันหลักเลิกจำหน่าย 4.4 ควรเก็บเนื้อสุกรที่จะจำหน่ายในระหว่างวันไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส หากต้องการเก็บค้างคืน ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส แต่อย่างไรก็ตาม ควรจำหน่ายเนื้อให้หมดวันต่อวัน 4.5 ผู้จำหน่ายเนื้อสุกร ควรมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อและไม่ควรมีบาดแผลที่ฝ่ามือ 5. กลุ่มผู้บริโภค 5.1 ควรเลือกเนื้อสุกรที่สด ไม่มีสีแดงคล้ำหรือมีเลือดคั่ง หรือมีสีแดงผิดปกติ 5.2 ร้านค้าที่จำหน่ายเนื้อสุกร ควรมีใบรับรองการนำเนื้อสุกรจาก โรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นเนื้อสุกรที่ตายเองและนำมาชำแหละขาย 5.3 เลือกซื้อเนื้อที่เก็บอยู่ในความเย็นตลอดเวลา 5.4 ควรนำเนื้อสุกรมาปรุงสุกเท่านั้น ไม่ควรบริโภคเนื้อสุกร เลือด อวัยวะภายในที่ดิบๆ หรือปรุงสุกๆดิบๆ เช่น ลาบ หลู้ เป็นต้น 5.5 ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสเนื้อหรืออวัยวะของสุกรที่จำหน่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีบาดแผลบริเวณที่สัมผัสกับเนื้อสุกร 5.6 ไม่รับประทานอาหารที่ปรุงจากเนื้อสุกรดิบๆ โดยเฉพาะเลือด เครื่องในดิบ ควรมีการแยกเขียงที่ใช้สำหรับการประกอบอาหารดิบและสุกออกจากกัน ท้ายที่สุดนี้ ปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ เน้นย้ำ โรคสเตรปโตคอกคัส ซูอิส สามารถป้องกันได้โดยการบริโภคเนื้อสุกรหรือเลือดที่ผ่านการปรุงสุกและจะได้มีการส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยปรับระบบการเลี้ยงสุกรในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพมากขึ้น หากมีข้อสงสัยประการใด สามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ หมายเลขโทรศัพท์ 0 – 4481 – 2334 ต่อ 13 หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่
กลับหน้าแรก / กลับด้านบน
ภาพ และข่าว : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศการปศุสัตว์ ผู้อนุมัติข่าว : นางศรีสมัย โชติวนิช ปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ