สัตวแพทย์หญิงศรีสมัย โชติวนิช ปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ปัจจุบันอากาศของประไทยได้เข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้สภาพอากาศในช่วงเวลากลางวันและกลางคืนมีความแตกต่างกันมาก ซึ่งสภาพอากาศดังกล่าวจะส่งผลให้สัตว์เลี้ยงเกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันโรคลดลง ทำให้สัตว์เจ็บป่วยได้ง่าย จึงขอให้เกษตรกรระวังโรคสัตว์ของตนเองและสัตว์ในหมู่บ้านในฤดูหนาวนี้
♦ โค กระบือ โรคที่ควรระวัง ได้แก่
โรคปากและเท้าเปื่อย ขณะนี้พบการเกิดในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น เชียงราย เชียงใหม่ นครราชสีมา น่าน ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ลพบุรี สงขลา และสระบุรี ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคปากและเท้าเปื่อย เนื่องจากสัตว์ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค หรือ การซื้อสัตว์ที่เป็นโรคหรืออมโรคเข้ามาในฟาร์ม รวมทั้งการปล่อยให้รถของพ่อค้าโค-กระบือ รถขนส่งอาหาร หรือรถรับซื้อมูลโคเข้าไปในบริเวณฟาร์ม เหล่านี้ล้วนแต่เป็นการนำเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อยเข้าสู่ฟาร์มและทำให้เกิดโรคได้ โรคปากและเท้าเปื่อยติดต่อโดยการกินหรือการหายใจสัตว์จะแสดงอาการมีไข้สูง เบื่ออาหาร น้ำลายไหล มีแผลที่ลิ้น เหงือก และร่องกีบ บางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม เชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตอาจทำให้สัตว์ตายได้
โรคปากเท้าเปื่อย สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน เมื่อลูกโค-กระบืออายุ 4 - 6 เดือน หลังจากนั้น 1 เดือน ให้ทำการฉีดกระตุ้นวัคซีนอีก 1 ครั้ง และให้ฉีดวัคซีนเป็นประจำทุก 6 เดือน
♦สุกร โรคที่ควรระวัง ได้แก่
โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร มีการแพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดพบการระบาดในทวีปเอเชียทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง มองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา เกาหลีเหนือ ลาว เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และติมอร์-เลสเต ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเข้าสู่ประเทศมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น หากพบสุกรตายแบบเฉียบพลัน มากกว่า 5%. ใน 2 วัน หรือในฟาร์มสุกรรายย่อย (เลี้ยงน้อยกว่า 50 ตัว) มีการตายเฉียบพลันตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปใน 1 วันโดยมีอาการแสดงดังต่อไปนี้ ไข้สูง หรือนอนสุม ร่วมกับท้องเสียเป็นเลือดหรือผิวหนังแดงหรือ
มีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำโดยเฉพาะใบหูและท้อง มีอาการไอ แท้ง หรือขาหลังไม่มีแรง โรคนี้มักพบในสุกรแม่พันธุ์ และสุกรขุน ทั้งนี้ หากพบสุกรแสดงอาการผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้ดำเนินการตามมาตรการของกรมปศุสัตว์ต่อไป
การป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรสำหรับเกษตรกร ได้แก่
1. แยกฟาร์ม/เล้าหมูออกจากตัวบ้าน มีรั้วเพื่อลดโอกาสสัมผัสสุกรจากภายนอก
2. ไม่เลี้ยงสุกรด้วยเศษอาหาร หากจำเป็นต้องนำเศษอาหารไปต้มก่อนที่อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที
3. ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาในฟาร์มหรือสถานที่เลี้ยงสุกร
4. ก่อนเข้าฟาร์มจะต้องมีการล้างมือและเปลี่ยนรองเท้าทุกครั้ง
5. ไม่อนุญาตให้ยานพาหนะภายนอกเข้ามาภายในฟาร์ม
6. ทำความสะอาดคอกให้แห้ง ถ่ายเทอากาศดี พ่นยาฆ่าเชื้อสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง
7. ซื้อหมูจากแหล่งที่ปลอดภัย
8. ขาย/จับหมูออกให้หมดเป็นรอบๆ
♦ เป็ดไล่ทุ่ง ไก่ชน และไก่พื้นเมือง โรคที่ควรระวัง ได้แก่
โรคไข้หวัดนก สัตว์ป่วยจะมีไข้ ซึม ไม่กินอาหาร เหนียงบวม มีสีแดงคล้ำมีจุดเลือดออกที่หน้าแข้ง ไอ จาม น้ำมูกไหล อาจท้องเสีย ชัก ตายอย่างรวดเร็ว เป็ดและห่านมักจะทนทานต่อโรคสูงกว่าสัตว์ปีกอื่นๆ จึงไม่ค่อยป่วยง่าย
โรคอหิวาต์เป็ด-ไก่ สัตว์ปีกมักจะตายอย่างรวดเร็วโดยไม่แสดงอาการให้เห็นบางรายที่ไม่ตายทันทีทันใด จะป่วย หงอยซึม เบื่ออาหาร นอนหมอบ อุจจาระเหลวสีเขียวปนเหลือง หายใจไม่สะดวก กระหายน้ำจัด หงอนและเหนียงสีคล้ำ โรคอหิวาต์เป็ด-ไก่สามารถป้องกันโรคโดยฉีดวัคซีนโรคอหิวาต์เป็ด-ไก่ เมื่ออายุ 1 เดือนขึ้นไป ตัวละ 1 ซี.ซี. เข้ากล้ามเนื้อหน้าอก และทำการกระตุ้นวัคซีนทุก ๆ 3 เดือน
ทั้งนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ควรเฝ้าระวัง ดูแล สุขภาพสัตว์ปีกของตนเองอย่างใกล้ชิด ให้สัตว์นอนในที่แห้งหรือในเล้าหรือโรงเรือน ที่มีหลังคาและผนังป้องกันลมได้ รวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันโรคจะช่วยให้สัตว์แข็งแรง ต้านทานโรคได้เป็นอย่างดี มีการกำจัดพยาธิทั้งภายในภายนอก พ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด ตลอดจนติดตามข่าวสารการเกิดโรคระบาดต่างๆอย่างใกล้ชิด ในกรณีที่จะนำสัตว์ใหม่เข้าฝูงต้องแยกเลี้ยงเพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 10-15 วัน หากพบสัตว์ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบแจ้งสัตวแพทย์ประจำท้องที่ทันที เพื่อควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยลดความเสียหายจากโรคระบาดสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ท้ายนี้ หากเกษตรกรต้องการขอคำแนะนำด้านการป้องกันหรือการรักษาโรคของสัตว์ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอใกล้บ้านของท่าน หรือติดต่อที่กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ โทรศัพท์หมายเลข 044-812334 ต่อ 13