ประวัติจังหวัดชัยภูมิ,ข้อมูลทั่วไปจังหวัดชัยภูมิ,สัญญลักษณ์

ประวัติจังหวัดชัยภูมิ
         สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองชัยภูมิ ปรากฏในทำเนียบแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ว่าเป็นเมืองขึ้นกับเมืองนครราชสีมาแต่ต่อมาผู้คนได้อพยพออกไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินที่อื่น และ พ.ศ.2360 "นายแล"ข้าราชการสำนักเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทร์ได้อพยพครอบครัวและบริวารเดินทางข้ามลำน้ำโขง มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านหนองน้ำขุ่น (หนองอีจาน) ซึ่งอยู่ในบริเวณท้องที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2362 เมื่อมีคนอพยพเข้ามาอยู่มาก นายแลก็ได้ย้ายชุมชนมาตั้งใหม่ที่บ้านโนนน้ำอ้อม บ้านชีลอง ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ 6 กิโลเมตร นายแลได้เก็บส่วยผ้าขาวส่งไปบรรณาการเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ จนได้รับบำเหน็จความชอบแต่งตั้งเป็น "ขุนภักดีชุมพล" ในปี พ.ศ. 2365 นายแลได้ย้ายชุมชนอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากที่เดิมกันดารน้ำ มาตั้งใหม่ที่บริเวณบ้านหลวง ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างหนองปลาเฒ่ากันหนองหลอด เขตอำเภอเมืองชัยภูมิ ปัจจุบัน และได้หันมาขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา และส่งส่วยทองคำถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ยอมขึ้นต่อเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์อีกต่อไปจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้ายกบ้านหลวงเป็นเมืองชัยภูมิ และแต่งตั้งขุนภักดีชุมพล (แล) เป็น "พระยาภักดีชุมพล" เจ้าเมืองคนแรกต่อมาเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ได้ก่อการกบฏ ยกทัพเข้ามาหมายจะตีกรุงเทพฯ โดยหลอกหัวเมืองต่าง ๆ ที่เดินทัพมาว่าจะมาช่วยกรุงเทพฯ รบกับอังกฤษ จนกระทั่งเจ้าอนุวงศ์สามารถยึดเมืองนครราชสีมาได้เมื่อปี พ.ศ. 2369 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งต่อมา เมื่อความแตกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ได้กวาดต้อนชาวเมืองนครราชสีมา เพื่อนำไปยังเมืองเวียงจันทร์ เมื่อไปถึงทุ่งสัมฤทธิ์ หญิงชายชาวเมืองที่ถูกจับโดยการนำของคุณหญิงโม ภรรยาเจ้าเมืองนครราชสีมา ได้ลุกฮือขึ้นต่อสู้ พระยาภักดีชุมพลเจ้าเมืองชัยภูมิพร้อมด้วยเจ้าเมืองใกล้เคียงได้ยกทัพออกไปสมทบกับคุณหญิงโม ตีกระหนาบทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์จนแตกพ่ายไปฝ่ายกองทัพลาวส่วนหนึ่งล่าถอยจากเมืองนครราชสีมาเข้ายึดเมืองชัยภูมิไว้ และเกลี้ยกล่อมให้พระยาภักดีชุมพล (แล) เข้าร่วมเป็นกบฏด้วย แต่พระยาภักดีชุมพลไม่ยอมเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์เกิดความแค้น จึงจับตัวพระยาภักดีชุมพลมาประหารชีวิตที่บริเวณใต้ต้นมะขามใหญ่ริมหนองปลาเฒ่า ซึ่งต่อมาชาวชัยภูมิได้ระลึกถึงคุณความดีที่ท่านมีความซื่อสัตย์และเสียสละต่อแผ่นดิน จึงได้พร้อมใจกันสร้างศาลขึ้น ณ บริเวณนั้น ปัจจุบันทางราชการได้สร้างศาลขึ้นใหม่เป็นศาลาทรงไทยชื่อว่า "ศาลาพระยาภักดีชุมพล (แล)" มีรูปหล่อของท่านอยู่ภายใน เป็นที่เคารพกราบไว้และถือเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของจังหวัด ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดชัยภูมิประมาณ 3 กิโลเมตร

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดชัยภูมิ ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงบริเวณใจกลางของประเทศ บริเวณเส้นรุ้งที่ 15 องศาเหนือ เส้นแวงที่ 102 องศาตะวันออก อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 631 ฟุต ห่างจากกรุงเทพมหานครโดยทางรถยนต์ประมาณ 332 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 12,778.3 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,986,429 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 7.6 ของพื้นที่ทั้งหมดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 2.5 ของพื้นที่ทั้งประเทศ มีพื้นที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นลำดับที่ 7 ของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ

จังหวัดชัยภูมิมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง บริเวณตอนกลางของจังหวัดเป็นพื้นที่ราบ พื้นที่ครึ่งหนึ่งของจังหวัดเป็นป่าไม้และภูเขา นอกจากนั้นเป็นที่ราบสูง มีพื้นที่ป่าไม้และเทือกเขาตั้งเรียงรายจากทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก ประกอบด้วยเทือกเขาสำคัญคือ ภูเขียว ภูแลนคา และภูพังเหย ด้วยลักษณะดังกล่าวจึงทำให้พื้นที่จังหวัด ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนเหนือ มีอำเภอหนองบัวแดง แก้งคร้อ บ้านแท่น เกษตรสมบูรณ์ ภูเขียว คอนสาร และภักดีชุมพลส่วนใต้ มีอำเภอเมืองชัยภูมิ บ้านเขว้า จัตุรัส บำเหน็จณรงค์ เทพสถิต หนองบัวระเหว คอนสวรรค์ อำเภอเนินสง่า และกิ่งอำเภอซับใหญ่

ลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญ แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะคือ

1.พื้นทีราบฝั่งแม่น้ำ เขตนี้มีพื้นที่ประมาณ 1,048,000 ไร่ หรือร้อยละ 13 ของพื้นที่จังหวัด มีความสูงตั้งแต่ 0- 200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ได้แก่ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำชีในเขตอำเภอเมืองชัยภูมิ บำเหน็จณรงค์ จัตุรัส คอนสวรรค์ บริเวณนี้จะเป็นเขตที่ราบ น้ำท่วมถึงในฤดูฝน
2. พื้นที่ลูกคลื่นลอนตื่น อยู่ตอนกลางของพื้นที่จังหวัดเป็นแนวยาวตามทิศเหนือ-ใต้ ตามแนวเทือกเขาดงพญาเย็น มีความสูงประมาณ 200- 500 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ได้แก่ พื้นที่บางส่วนในเขตอำเภอเมืองชัยภูมิ จัตุรัส บำเหน็จณรงค์ บ้านเขว้า และคอนสวรรค์
3.พื้นที่สูงและภูเขา สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลอนลึกและภูเขาในเขตเทือกเขาดงพญาเย็น มีความสูงตั้งแต่ 500- 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งได้แก่ พื้นที่บางส่วนของอำเภอหนองบัวระเหว คอนสาร เกษตรสมบูรณ์ ภูเขียว แก้งคร้อ และพื้นที่ทางตอนเหนือของอำเภอเมืองชัยภูมิ
การแบ่งเขตการปกครอง

จังหวัดชัยภูมิ มีรูปแบบการปกครองและการบริหารราชการเป็น 3 ส่วนคือ

1. การบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ หน่วยงานที่กระทรวง กรมต่าง ๆ ส่งมาปฏิบัติราชการประจำ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ ดังนี้
1.1 หน่วยงานระดับจังหวัด ประกอบด้วย หน่วยงานทั้งสิ้น 34 หน่วยงาน เช่น ที่ทำการปกครองจังหวัด สำนักงานสรรพากรจังหวัด สำนักงานป่าไม้จังหวัด เป็นต้น
1.2 หน่วยงานระดับอำเภอ ประกอบด้วย 15 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ 124 ตำบล และ 1,604 หมู่บ้าน
2. การบริหารราชการส่วนกลาง ได้แก่ หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่ขึ้นตรงต่อการบริหารราชการส่วนกลางที่ประจำในจังหวัด มี่ทั้งสิ้น 46 หน่วยงาน และเป็นหน่วยงาน และเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจำนวน 15 หน่วยงาน
3. การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย
องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ
เทศบาลเมือง 1 แห่ง คือ เทศบาลเมืองชัยภูมิ
เทศบาลตำบล 19 แห่ง
องค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต. ) 122 แห่ง
อุตสาหกรรม
การอุตสาหกรรมจังหวัดชัยภูมิ

โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในจังหวัดชัยภูมิ เป็นอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานในลักษณะการแปรรูปผลผลิตทางด้านการเกษตรเบื้องต้น และส่งต่อไปยังโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ อุตสาหกรรมในจังหวัดชัยภูมิที่คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวมาก คือ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรในอำเภอที่มีการปลูกพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น อำเภอภูเขียว บำเหน็จณรงค์ เทพสถิต คอนสวรรค์ และภักดีชุมพล ส่วนโรงงานอุสาหกรรมที่น่าจะมีการส่งเสริมอีก คือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด เยื่อกระดาษจากฟางข้าว และไม้โตเร็ว ไซโล ดอกไม้ประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก แป้งข้าวเจ้า แป้งถั่วเขียว นมพร้อมดื่ม อุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม

สถิติโรงงานอุตสาหกรรม

ในปีพ.ศ. 2544 จังหวัดชัยภูมิมีสถานประกอบอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 486 แห่ง เงินทุน 5,947.700 ล้านบาท จำนวนคนงาน 10,482 คน เป็นสถานประกอบอุตสาหกรรมเกษตรมากที่สุดจำนวน 118 แห่ง จำนวนเงินทุน 1,929,743,626 ล้านบาท มีการจ้างงานจำนวน 1,099 คน รองลงมา เป็นสถานประกอบอุตสาหกรรมโลหะและอโลหะ จำนวน 150 แห่ง จำนวนเงินทุน 752,814,765 ล้านบาท มีการจ้างงานจำนวน 875 คน โดยสถานประกอบอุตสาหกรรมด้านไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้มีจำนวนน้อยที่สุดคือ 7 แห่ง จำนวนเงินทุน 27,975,000

การส่งเสริมการลงทุน

โดยภาพรวมของโครงการที่อนุมัติให้มีการส่งเสริมการลงทุน จังหวัดชัยภูมิ ระหว่างปี พ.ศ. 2535-2544 พบว่า มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้มีการส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชัยภูมิอย่างต่อเนื่อง โดยที่ในปี 2539 มีโครงการได้รับอนุมัติมากที่สุด คือ 7 โครงการ เงินลงทุน 907.8 ล้านบาท มีการจ้างงานจำนวน 791 คน สำหรับในปี 2544 มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติจำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 340 ล้านบาท มีการจ้างงานจำนวน 647 คน ซึ่งลดลงจากปี 2542 จำนวน 1 โครงการ เมื่อพิจารณาประเภทของอุตสาหกรรมทางเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร เงินลงทุน 300 ล้านบาท มีการจ้างงาน 120 คนและอุตสาหกรรมเบา เงินลงทุน 40 ล้านบาท มีการจ้างงาน 527 คน

เศรษฐกิจโดยรวมจังหวัดชัยภูมิ

เศรษฐกิจโดยรวม

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรายงานว่า ในปี พ.ศ. 2543 จังหวัดชัยภูมิมีมูลค่ารวมผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) ตามราคาประจำปี 29,988 ล้านบาท มูลค่ารวมผลิตภัณฑ์เฉลี่ยต่อหัว (Per Capita GPP) เท่ากับ 27,138 บาท จัดเป็นลำดับที่ 5 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และลำดับที่ 61 ของประเทศ รายได้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กันสาขาการเกษตรมากที่สุดถึงร้อยละ 23.74 คิดเป็นมูลค่า 7,121 ล้านบาท รองลงมาเป็นสาขาค้าส่งและค้าปลีกร้อยละ 20.01 คิดเป็นมูลค่า 6,003 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเป็นอันดับที่ 3 มีมูลค่า 5,528 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.43 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 1.36 อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดชัยภูมิโดยภาพรวม พบว่า เศรษฐกิจของจังหวัดชัยภูมิมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ถึงจะมีอัตราการเพิ่มไม่มากนักก็ตาม ภาคธุรกิจที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องได้แก่ อุตสาหกรรม การค้าปลีกค้าส่ง บริการ ส่วนภาคการเกษตรทรงตัว

รายได้ต่อหัว

จากรายงานของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า รายได้ส่วนใหญ่ของจังหวัดชัยภูมิขึ้นอยู่กับการเกษตร อุตสาหกรรม การค้าปลีก แต่อย่างไรก็ตาม อาชีพของคนส่วนใหญ่ของจังหวัดคือการประกอบอาชีพทางการเกษตร ได้แก่ การทำนาในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำชี การปลูกพืชไร่ต่าง ๆ เช่น อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และการปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นหลายชนิด สำหรับการปศุสัตว์ส่วนใหญ่จะเลี้ยงเพื่อบริโภคในครัวเรือน ดังนั้น รายได้ต่อหัวของจังหวัดชัยภูมิจึงค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ภาคเกษตรกรรมของจังหวัดชัยภูมิประสบปัญหาราคาตกต่ำ ทำให้มูลค้าผลิตภัณฑ์เฉลี่ยต่อหัวของประชากรจังหวัดชัยภูมิ ณ ปี 2542 เท่ากับ 26,137 บาทต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 2,178.80 บาท ในขณะที่ปีถัดมา คือปี 2543 ราคาสินค้าทางเกษตรกรรมดีขึ้น ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวปีของจังหวัดชัยภูมิจัดอยู่ในลำดับที่ 5 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นลำดับที่ 61 ของประเทศ

การคมนาคมขนส่ง

การขนส่งทางรถไฟ

จังหวัดชัยภูมิมีเส้นทางรถไฟผ่านพื้นที่ทางตอนใต้ของจังหวัดซึ่งเป็นเส้นทางระหว่างอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี – อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา – อำเภอเทพสถิต – บำเหน็จณรงค์ – จัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีสถานีรถไฟรวม 6 สถานี มีขบวนรถไฟผ่านสถานีรถไฟอำเภอบำเหน็จณรงค์ และอำเภอจัตุรัส ขึ้นล่องวันละ 10 ขบวน เนื่องจากการคมนาคมทางรถไฟ ไม่ผ่านเส้นทางสำคัญของจังหวัด และตัวจังหวัด ทำให้การเดินทางโดยรถไฟไม่เป็นที่นิยมสำหรับประชาชน เพราะไม่สะดวกเท่าทางรถยนต์

การขนส่งทางรถยนต์

การคมนาคมขนส่งทางบกของจังหวัดชัยภูมิ มีความสะดวกสบายและเป็นที่นิยมของประชาชนในจังหวัดชัยภูมิมาก โดยมีเส้นทางติดต่อกับกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงได้อย่างสะดวก มีทางรถยนต์โดยสาร วิ่งระหว่างจังหวัดกรุงเทพฯ มายัง จังหวัดชัยภูมิหรือจังหวัดอื่นซึ่งผ่านจังหวัดชัยภูมิ 4 สายและรถยนต์โดยสารวิ่งระหว่างจังหวัดชัยภูมิไปยังจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 25 สาย รถยนต์โดยสารวิ่งระหว่างจังหวัดกับอำเภอมี 29 สาย และเส้นทางเดินรถภายในชุมชนเมืองชัยภูมิ 3 สาย จังหวัดชัยภูมิ มีเส้นทางคมนาคมติดต่อกับจังหวัดต่าง ๆ หลายจังหวัด สภาพถนนดี และเดินทางสะดวกทุกฤดูกาล ดังนี้

จากกรุงเทพฯ เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านรังสิต วังน้อย จนถึงสามแยกจังหวัดสระบุรี เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 2 ผ่านอำเภอปากช่อง จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอำเภอสีคิ้ว อำเภอด่านขุดทด เข้าเขตจังหวัดชัยภูมิ ที่อำเภอจัตุรัส ขับตรงเข้าสู้ตัวจังหวัดชัยภูมิ
จากจังหวัดลพบุรี เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านอำเภอชัยบาดาล ตำบลลำนารายณ์ เลี้ยวซ้ายไปตามทางหมายเลข 205 ผ่านอำเภอเทพสถิตจังหวัดชัยภูมิ จนถึงสี่แยกตำบลหนองบัวโคก เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวง 201 ผ่านอำเภอจัตุรัสเข้าสู่ตัวจังหวัดชัยภูมิ
จากจังหวัดนครราชสีมา เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 2 ผ่านตำบลจอหอ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 205 ผ่านอำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมาตรงไปจนถึงสี่แยกตำบลหนองบัวโคก อำเภอจัตุรัส เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 201 เข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ
จากจังหวัดขอนแก่น มาได้ 2 ทาง คือ เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 12 ผ่านบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2062 ผ่านอำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่นแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2149 ตรงไปจนถึงสามแยกช่องสามหมอ เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 201 เข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ หรือมาจากจังหวัดเลย จนถึงตลาดบ้านหัน เล้ยวซ้ายขึ้นทางหลวงหมายเลข 12 ถึงสามแยกชุมแพ เลี้ยวขวา ไปตามทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอำเภอภูเขียว แก้งคร้อ เข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ
จากจังหวัดเพชรบูรณ์ เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 12 ผ่านอำเภอคอนสาร ตรงไปถึงสามแยกชุมแพ เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอำเภอภูเขียว แก้งคร้อ เข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ
จากจังหวัดนครสวรรค์ เข้าอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าอำเภอภักดีชุมพล หนองบัวระเหวและอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งจากการเดินทางติดต่อได้หลายจังหวัดดังกล่าว ทำให้จังหวัดชัยภูมิ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างภาคกลาง ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รถประจำทางจากชัยภูมิไปจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ

นอกจากจังหวัดชัยภูมิจะเป็นศูนย์กลางที่มีรถโดยสารติดต่อไปยังจังหวัดต่าง ๆ แล้ว ยังมีรถโดยสารติดต่อไปยังอำเภอต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก จากสถานีขนส่งชัยภูมิมีรถโดยสารประจำทางไป กรุงเทพฯ เลย เชียงใหม่ นคสวรรค์ นครราชสีมา ขอนแก่น เพชรบูรณ์-หล่มสัก พิษณุโลก ชุมแพ บัวใหญ่ คอนสวรรค์ หนองบัวแดง เกษตรสมบูรณ์ บ้านเขว้า สมอทอด คอนสาร ลำนารายณ์ บ้านไผ่

การขนส่งทางอากาศ

บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่มีบริการเที่ยวบินไปจังหวัดชัยภูมิ หากประสงค์จะเดินทางไปโดยเครื่องบินจะต้องลงที่จังหวัดขอนแก่น จากนั้นสามารถต่อรถโดยสารจากจังหวัดขอนแก่นย้อนกลับเข้าชัยภูมิ ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร หรือจะลงที่จังหวัดนครราชสีมา แล้วต่อรถโดยสารเข้าจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ 119 กิโลเมตร

การสื่อสารคมนาคม

จากข้อมูลของบริษัท ทศท. คอร์ปอเรชัน จำกัด พบว่า ในปีงบประมาณ 2544 จังหวัดชัยภูมิ มีจำนวนชุมสายโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยทั้งสิ้น 26 แห่ง มีเลขหมายจำนวนทั้งสิ้น 33,458 เลขหมาย โดยเป็นเลขหมายขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (บริษัท ทศท. คอร์ปอเรชั่น จำนวน) จำนวน 18,854 เลขหมาย มีผู้เช่าเลขหมายจำนวน 17,799 เลขหมาย จึงมีเลขหมายคงเหลือเท่ากับ1,055 เลขหมาย ใยขณะที่มีเลขหมายของบริษัทไทย เทเลโฟน แอนด์เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 14,604 เลขหมาย และมีผู้เช่าจำนวน 10,858 เลขหมายเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบการใช้หมายเลขโทรศัพท์ของจังหวัดชัยภูมิจะพบว่า อัตราการใช้หมายเลขขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ในปี 2544 ลดลงจากปี 2543 ร้อยละ 4.88 แต่สำหรับเลขหมายของบริษัทไทยเทเลโฟน แอนด์เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) พบว่ามีเลขหมายค่อนข้างคงที่ และมีจำนวนผู้เช่าเลขหมายในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ไปรษณีย์โทรเลข

ไปรษณีย์โทรเลข เป็นบริการของการสื่อสารแห่งประเทศไทย จังหวัดชัยภูมิมีที่ไปรษณีย์โทรเลขที่ให้บริการด้านต่าง ๆ ได้แก่ รับ-ส่งไปรษณีย์ในประเทศและต่างประเทศ โทรศัพท์สาธารณะระหว่างประเทศ โทรพิมพ์ โทรสาร และอื่น ๆ โดยมีที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขกระจายให้บริการในทุกอำเภอในปีงบประมาณ 2544 มีที่ทำการไปรษณีย์ครบทุกอำเภอและกิ่งอำเภอ รวมทั้งไปรษณีย์ตำบลสำหรับเอกชนอีกด้วยรวมทั้งหมด 45 แห่ง เป็นของทางราชการ จำนวน 16 แห่ง และเป็นของเอกช 25 แห่ง ในปี พ.ศ. 2544 มีการให้บริการไปรษณียภัณฑ์รวมทั้งสิ้น 3,096,395 ชิ้น ซึ่งจำแนกเป็นการส่งไปรษณียภัณฑ์ธรรมดา 2,481,054 ชิ้น บริการพิเศษ 574,229 ชิ้น พัสดุไปรษณีย์ 27,279 ชิ้น และโทรเลข 10,833 ครั้ง

สาธารณูปโภค

ไฟฟ้า

ข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดชัยภูมิ รายงานว่า จังหวัดชัยภูมิมีขอบเขตรับกระแสไฟฟ้าจากแหล่งผลิต ดังนี้

กระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่เขื่อนจุฬาภรณ์ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ เก็บน้ำได้ 188 ล้านลูกบาศก์เมตร มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่อง กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 40,000 กิโลวัตต์/ชั่วโมง หรือ 140 ล้านหน่วย
กระแสไฟฟ้าจากสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อยอำเภอเมืองพล จังหวัดขอนแก่น
กระแสไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าย่อยอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
กระแสไฟฟ้าย่อย นครราชสีมา

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดชัยภูมิ มีการไฟฟ้าในสังกัดขึ้นตรง จำนวน 4 แห่งคือ

การไฟฟ้าอำเภอจัตุรัส
การไฟฟ้าอำเภอแก้งคร้อ
การไฟฟ้าอำเภอหนองบัวแดง
การไฟฟ้าอำเภอบำเหน็จณรงค์

มีสถานีไฟฟ้าจำนวน 3 สถานี

1. สถานีไฟฟ้าชัยภูมิ เป็นสถานี 22 เควี. ตั้งอยู่ที่ ถนนสายชัยภูมิ-บัวใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ มีความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด 46.841 เมกกะวัตต์ จ่ายไฟให้กับอำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอหนองบัวแดง อำเภอภักดีชุมพล อำเภอจัตุรัสบางส่วน และอำเภอบัวใหญ่บางส่วน

2. สถานีไฟฟ้าบำเหน็จณรงค์ เป็นสถานี 22 เควี. ตั้งอยู่ที่ ตำบลสุรนารายณ์ อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ มีความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด 26.72 เมกกะวัตต์ จ่ายไฟให้กับอำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอจัตุรัสบางส่วน และอำเภอด่านขนทดบางส่วน

3. สถานีไฟฟ้าแก้งคร้อ เป็นสถานี 115 เควี. ตั้งอยู่ที่ ถนนสายแก้งคร้อ-ภูเขียวอำเภอ-แก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด 12 เมกกะวัตต์ จ่ายไฟให้กับอำเภอแก้งคร้อ อำเภอภูเขียว อำเภอคอนสวรรค์ และอำเภอบ้านแทนปัจจุบันการไฟฟ้าได้ขยายเขตและให้บริการไฟฟ้าเกือบครบทุกหมู่บ้านแล้ว ยังเหลือเพียง 3 หมู่บ้าน เท่านั้นที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เนื่องจากอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติในปีงบประมาณ 2544 มีการจำหน่วยกระแสไฟฟ้าภายในจังหวัดทั้งสิ้น 257.86 ล้านยูนิต ซึ่งลดลงจากปีก่อน 4.31 % ในขณะที่จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าในปี 2544 มีจำนวน 225,741 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวน 6,138 คน หรือ 2.79%

ประปา

การให้บริการน้ำประปาของการประปาจังหวัดชัยภูมิ ส่วนใหญ่จะมีเฉพาะในเขตชุมชนเมืองใหญ่ เช่น ในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ เขตเทศบาลตำบล และหมู่บ้านที่มีประชากรหนาแน่น ในส่วนของการประปาส่วนภูมิภาคที่เข้าดำเนินการ มีจำนวนทำการประปา 9 แห่ง คือ เทศบาลเมืองชัยภูมิ เทศบาลตำบลบ้านค่ายหมื่นแผ้ว หนองบัวแดง แก้งคร้อ บ้านเพชร (บำเหน็จฯ) จัตุรัส บ้านเขว้า คอนสวรรค์ เทศบาลตำบลผักปัง (ภูเขียว) และอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาล ตำบล 5 แห่ง คือ บ้านแท่น เกษตรสมบูรณ์ บ้านเป้า บำเหน็จณรงค์ เทศบาทตำบลนาหนองทุ่ม สำหรับชุมชนเมืองที่ไม่มีน้ำประปาบริการแต่อาศัยน้ำจากบ่อบาดาลมี 3 แห่ง คือ เทศบาทตำบลคอนสาร เทพสถิต และหนองบัวระเหวสำหรับการบริการประปาใน อำเภอเมืองชัยภูมิ มีที่ทำการประปาจังหวัด และประปาสุขาภิบาล ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของการประปาภูมิภาค มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 17,432,400 ลูกบาศก์เมตร น้ำที่ผลิตได้ 12,443,733 ลูกบาศก์เมตร จำนวนผู้ใช้น้ำ 50,252 ราย สำหรับการใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคในชุมชนบท ประชาชนยังคงอาศัยแห่งน้ำธรรมชาติ และหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานได้จัดหาแหล่งน้ำ โดยการจัดสร้างบ่อบาดาล บ่อน้ำตื้น อ่างเก็บน้ำ เหมือง ฝาย และการประปาชนบท พอเพียงกับความต้องการของประชาชน

ประชากรและแรงงาน

จำนวนประชากร

จากข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานว่า จังหวัดชัยภูมิมีประชากร ณ วันที่ 25 เดือนมิถุนายน พ.ศ.2550 รวมทั้งสิ้น 1,120,192 คน ชาย 558,031 คิดเป็นร้อยละ 49.82 ของประชากรทั้งจังหวัด หญิง 562,161 คน คิดเป็นร้อยละ 50.18 ของประชากรทั้งจังหวัด ในปี 2544 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของประชากรลดลง ร้อยละ 0.62 เมื่อเทียบกับปี 2544 ความหนาแน่นของประชากรโดยเฉลี่ยทั้งจังหวัด 88.5 คนต่อตารางกิโลเมตร เมื่อพิจารณาเป็นรายอำเภอเมืองชัยภูมิมีประชากรมากที่สุด จำนวน 195,372 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.38 ของประชากรทั้งหมด รองลงมาคืออำเภอภูเขียว จำนวน 123,533 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 10.99 ส่วนกิ่งอำเภอซับใหญ่ มีจำนวนประชากรน้อยที่สุด มีจำนวน 13,077 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.16 สำหรับอำเภอที่ความหนาแน่นของประชากรมากที่สุด คืออำเภอเมืองชัยภูมิ มีความหนนาแน่นของประชากรเท่ากับ 161.74 คน/ตร.กม. รองลงมาเป็นอำเภอแก้งคร้อ 155.58 คน/ตร.กม. โดยอำเภอภักดีชุมพลเป็นอำเภอที่มีความหนาแน่นประชากรน้อยที่สุดเพียง 31.76 คน/ตร.กม.

ภาคการผลิตที่แท้จริง

จากรายงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยภูมิและสำนักงานป่าไม้จังหวัดชัยภูมิ พบว่า ในปี 2544 จังหวัดชัยภูมิ มีการใช้พื้นที่และการถือครองที่ดินทางการเกษตรทั้งหมด 7,986,429 ไร่หรือ 12,778.29 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น พื้นที่เกษตร 3,332,282 ไร่ หรือร้อยละ 41.72 ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นทีป่าไม้ประมาณ 2,064,839 ไร่ หรือร้อยละ 25.86 และพื้นที่อื่น ๆ ประมาณ 2,589,308 ไร่ หรือร้อยละ 32.42 เมื่อพิจารณาเฉพาะการใช้พื้นที่ทางการเกษตรพบว่า ส่วนใหญ่ใช้เป็นพื้นที่เพื่อการทำนา ประมาณ 1,636,454 ไร่ รองลงมาคือ พื้นที่ปลูกพืชไร่ ประมาณ 1,565,487 ไร่ โดยพื้นที่จำนวนน้อย ที่สุด ใช้เพื่อการปลูกสวนผักและไม้ดอก จำนวน 10,819 ไร่
ภาคการเกษตรจัดเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้สำคัญเป็นอันดับ 1 ของจังหวัด โดยมีรายได้รวมในปี 2543 เท่ากับ 7,121 ล้านบาท และมีแรงงานทำงานอยู่ในภาคการเกษตรทั้งสิ้น 334,300 คน คิดเป็นร้อยละ 56.24 ของกำลังแรงงานที่มีงานทำของจังหวัด ซึ่งนับเป็นจำนวนแรงงานที่มีมากที่สุด เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบรายได้จากการเกษตรตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา พบว่า เศรษฐกิจในภาคการเกษตรมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี แต่จากช่วงปี 2542 เป็นต้นมา รายได้จากภาคการเกษตรลดลง แต่ในอัตราที่ไม่มากนัก เมื่อจำแนกโครงสร้างภาคการเกษตร จะพบว่าการทำกสิกรรมเป็นอาชีพที่มีมูลค่าสูงสุดคือ 5,370 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.41 รองลงมาคือการแปรรูปสินค้าเกษตรอย่างง่าย จำนวนมูลค่า 501 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.03 และการทำปศุสัตว์ จำนวนมูลค่า 435 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.10 ตามลำดับ โดยการทำประมงมีมูลค่าน้อยที่สุดคือ 241 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 3


ตราประจำจังหวัด


เป็นรูปธงสามชาย ซึ่งเป็นธงนำกระบวนทัพในสมัยโบราณ
หมายถึง ธงแห่งชัยชนะสงคราม เดิมผู้ครองนคร ได้เลือกภูมิประเทศเพื่อตั้งเป็นเมือง พบว่าตรงจังหวัดนี้มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ทำเลเหมาะแก่การสู้รบป้องกันตัวจึงตั้งเมืองขึ้นและให้สัญญลักษณ์เป็นรูปธงชัย 3 แฉก


ดอกไม้ประจำจังหวัด คือ ดอกกระเจียว


ต้นไม้ประจำจังหวัด คือ ต้นขี้เหล็ก